ภาคกลางเป็นพื้นที่ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ตามแนวแกนการพัฒนาที่เชื่อมต่อกับภาคกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก โดยมีโครงข่ายเชื่อมโยงคมนาคมขนส่งท่าเรือแหลมฉบังกับท่าเรือน้ำลึกทวาย เป็นฐานการผลิตสินค้าการเกษตรและอาหาร แหล่งอุตสาหกรรม แปรรูปผลผลิตทางการเกษตร รวมทั้งเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีความหลากหลาย เป็นศูนย์รวมด้านการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมในระดับนานาชาติ ซึ่งจากความได้เปรียบเชิงที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ และการมีระบบโครงข่ายการคมนาคมขนส่งที่สามารถเชื่อมโยงกับเมืองต่าง ๆ ภายในประเทศและกับประเทศเพื่อนบ้าน จึงเป็นโอกาสและความท้าทายของภาคกลางในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจไปยังเมืองและชุมชนต่าง ๆ ประกอบกับบริบทการพัฒนาประเทศไทยปัจจุบันกำลังเข้าสู่ยุคของการเปลี่ยนแปลง อาทิ ไทยแลนด์ 4.0 ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น ดังนั้นการวางผังภาคกลางที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2550 จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงผังเพื่อให้สอดรับกับนโยบายและบริบทการพัฒนาประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป
การวางผังภาคกลาง เป็นการวางผังนโยบายการใช้พื้นที่โดยรวมของภาคในอนาคต ชี้นำการพัฒนาพื้นที่ให้กับกลุ่มจังหวัด จังหวัด เมือง และชุมชน ในด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน การพัฒนาเมืองและชนบท การคมนาคมขนส่ง และโครงสร้างพื้นฐาน ควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและศิลปวัฒนธรรม ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ ถ่ายทอดนโยบายจากผังประเทศสู่การพัฒนาพื้นที่ภาคอย่างเป็นระบบ ซึ่งการวางผังภาคกลางจะเป็นการกำหนดนโยบาย แผนผัง มาตรการ และวิธีการดำเนินการ โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถนำไปดำเนินการพัฒนาพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและไปในทิศทางเดียวกัน ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัย เกษตรกรรม การบริการและการท่องเที่ยว ให้เมืองมีสภาพแวดล้อมน่าอยู่ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีการใช้พื้นที่อย่างยั่งยืนและสมดุล
07 มีนาคม 2562
ผู้ชม 3287 ครั้ง